ร้องเรียน / อนุญาโตตุลาการ
คณะกรรมการ ก.ล.ต. ได้มีนโยบายให้สำนักงานจัดให้มีมาตรการให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้ลงทุนในตลาดทุน เนื่องจากมีผู้ลงทุนได้รับความเสียหายจากการที่บริษัทหลักทรัพย์ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือสัญญา หรือไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และการที่ผู้ลงทุนจะได้รับการชดเชยความเสียหายดังกล่าวอาจมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงมากจนไม่คุ้มกับความเสียหายที่ได้รับ หรืออาจต้องใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมทั่วไป เพื่อเพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาท บริษัทหลักทรัพย์ ทิสโก้ จำกัด ได้เข้าร่วมระบบการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการที่สะดวก รวดเร็ว เป็นธรรม และประหยัดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ลงทุน โดยในกรณีที่เกิดข้อพิพาทระหว่างบริษัทกับผู้ลงทุน
ผู้ลงทุนสามารถเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนแรก คือ กระบวนการรับข้อร้องเรียนภายในของบริษัทหลักทรัพย์ โดยเมื่อมีข้อพิพาทเกิดขึ้นระหว่างผู้ลงทุนกับบริษัทหลักทรัพย์ ผู้ลงทุนต้องดำเนินการร้องเรียนตามกระบวนการรับข้อร้องเรียนภายในของบริษัทหลักทรัพย์ก่อน โดยการส่งข้อร้องเรียนผ่าน ฝ่ายกำกับและควบคุมภายใน การร้องเรียนผ่านฝ่ายกำกับและควบคุมภายใน หากลูกค้าและบริษัทหลักทรัพย์ไม่สามารถตกลงกันได้หรือบริษัทไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียน ภายในระยะเวลาที่กำหนด ลูกค้าซึ่งเป็นผู้เสียหายและบริษัทหลักทรัพย์สามารถตกลงกันเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป
ขั้นตอนที่สอง คือ กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการของสำนักงาน กลต. การเข้าสู่กระบวนการนี้เป็นการตกลงกันเข้ามาด้วยความสมัครใจของคู่กรณีทั้งสองฝ่าย โดยผู้ร้องต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือหรือข้อสัญญาว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายยินยอมให้มีการยุติข้อพิพาทด้วยวิธีอนุญาโตตุลาการและในการยื่นคำร้อง เพื่อเข้าสู่กระบวนการผู้ร้องสามารถเลือกที่จะให้สำนักงานเป็นผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนได้ หากคู่กรณียังไม่สามารถตกลงกันได้อีก ก็จะเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทโดยวิธีอนุญาโตตุลาการ
ลักษณะของข้อพิพาทที่สามารถเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ต้องมีลักษณะครบทุกข้อ ดังต่อไปนี้
- เป็นข้อพิพาทระหว่าง “ ผู้ร้อง” ที่เป็นบุคคลธรรมดา กับ “ ผู้ถูกร้อง” เกี่ยวกับธุรกิจหลักทรัพย์หรือธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือเป็นข้อพิพาทระหว่าง
“ ผู้ร้อง” ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพกับ “ ผู้ถูกร้อง” โดย “ ผู้ร้อง” ต้องแสดงหลักฐานว่า “ ผู้ถูกร้อง” ยินยอมให้มีการเสนอข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ - เป็นข้อพิพาทที่เกิดจาก “ ผู้ถูกร้อง” ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงหรือสัญญา หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ หรือกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
- “ ผู้ร้อง” เรียกร้องค่าเสียรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท
- เป็นข้อพิพาทที่ผ่านระบบการรับข้อร้องเรียนของ “ ผู้ถูกร้อง” แล้ว แต่ “ ผู้ร้อง” ไม่ได้รับการติดต่อ หรือไม่ได้รับการแก้ไขในระยะเวลาอันสมควร หรือการแก้ไขไม่เป็นที่พอใจ
- เป็นข้อพิพาทที่เกิดขึ้นแล้วไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ “ ผู้ร้อง” รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งข้อพิพาทนั้น แต่ต้องไม่เกิน 1 ปีนับแต่วันที่เกิดเหตุ
คำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการถือเป็นที่สุดมีผลผูกพันคู่กรณีให้ต้องปฏิบัติตามหารผู้แพ้ไม่ปฎิบัติตามคำชี้ขาด ผู้ชนะก็สามารถร้องขอต่อศาลให้บังคับตามคำชี้ขาดนั้น อย่างไรก็ดี การคัดค้านคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการอาจทำได้ โดยการขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาด ซึ่งจะต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและวิธีการที่กำหนดไว้ในพรบ. อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 เช่น ในกรณีที่พิสูจน์ได้ว่า องค์ประกอบของคณะอนุญาโตตุลาการหรือกระบวนพิจารณาไม่เป็นไปตามที่ตกลงกันไว้ นอกจากนี้ในระหว่างการดำเนินกระบวนการฯ คู่กรณีสามารถร้องขอให้สำนักงานดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทช่วงใดก็ได้
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินกระบวนการอนุญาโตตุลาการนั้นจะประกอบด้วย
- ค่าป่วยการอนุญาโตตุลาการ ซึ่งคิด 2% ของค่าเสียหายที่เรียกร้อง (ไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท) กรณี “ ผู้ร้อง” หลายรายร่วมกันร้องเป็นข้อพิพาทเดียวกัน ค่าป่วยการสูงสุดจะไม่เกิน 100,000 บาท ต่ออนุญาโตตุลาการ 1 คน เมื่อสิ้นสุดกระบวนการพิจารณา อนุญาโตตุลาการจะกำหนดผู้มีหน้าที่ชำระค่าป่วยการ
- ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้แก่ ค่าตอบแทนผู้เชี่ยวชาญ (ถ้ามี) ค่าใช้จ่ายในการสืบพยาน ค่าจัดประชุม และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด เป็นต้น ซึ่งคู่กรณีจะต้องแบ่งจ่ายฝ่ายละครึ่งหนึ่ง โดยสำนักงานอาจรับภาระค่าใช้จ่ายในส่วนของ “ ผู้ร้อง” ตามที่เห็นสมควร
ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.sec.or.th
เอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับอนุญาโตตุลาการ